วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แสตมป์


แสตมป์ทั่วไป
แสตมป์ที่พิมพ์เพื่อการใช้งานไปรษณีย์เป็นหลัก เรียกว่า
แสตมป์ทั่วไป (definitive stamp) ถือเป็นแสตมป์ประเภทแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น เพราะค่าไปรษณีย์มีหลายอัตราขึ้นกับน้ำหนัก ที่หมาย ความด่วนของการส่ง การรับประกันการสูญหาย เป็นต้น แสตมป์ทั่วไปมักพิมพ์หลายราคา โดยแต่ละราคารูปมีแบบเหมือนกัน มีจำนวนที่พิมพ์สูง และอาจมีการพิมพ์เพิ่มเติมหลายครั้ง
ภาพที่นิยมใช้บนแสตมป์ทั่วไป ได้แก่ ภาพพระมหากษัตริย์ของประเทศนั้น ๆ กรณีที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ภาพสวยงามอื่นซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น ดอกไม้ สัตว์ สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งแสตมป์ดวงแรกของโลกเป็นภาพ
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สำหรับประเทศไทยนิยมใช้ภาพพระมหากษัตริย์ไทยบนดวง
แสตมป์ทั่วไป เรียกว่าแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ แต่ปัจจุบันมีการใช้รูปอื่น เช่น รูป
ธงชาติ รูปช้าง บนดวงแสตมป์ด้วย


แสตมป์ที่ระลึก
แสตมป์ที่ระลึก (commemorative stamp) เป็นแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสทั่วไป และพิมพ์เป็นจำนวนจำกัด เมื่อจำหน่ายหมดแล้วก็ไม่มีการพิมพ์เพิ่ม มีได้หลายลักษณะ เช่น
เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ที่สำคัญ หรือ วันครบรอบของบุคคลสำคัญ
เป็นที่ระลึกเนื่องในกิจกรรมพิเศษ เช่น
งานกาชาด หรือ วันสำคัญของปี เช่น วันสงกรานต์ วันวาเลนไทน์
สำหรับเผยแพร่เรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ ธรรมชาติ, งานศิลปะ เช่น
แมวไทย, จิตรกรรมฝาผนัง, อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
แสตมป์ที่ระลึกประเภทหลังมีอีกชื่อเรียกว่าแสตมป์พิเศษ (special stamp) และอาจจัดแสตมป์ที่ระลึกประเภทที่สองเป็นแสตมป์พิเศษด้วยก็ได้
แสตมป์ที่ระลึกเกิดขึ้นมาภายหลังเมื่อความนิยมการสะสมแสตมป์เพิ่มขึ้น แสตมป์ที่พอจะจัดเป็นแสตมป์ที่ระลึกดวงแรก ๆ เช่น แสตมป์ของสหรัฐอเมริการูป
อับราฮัม ลิงคอล์น ที่ออกใน พ.ศ. 2409 ภายหลังที่เขาถูกลอบสังหารในปีก่อนหน้า แต่ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าออกเพื่อการไว้อาลัย แสตมป์ดวงแรกที่มีข้อความแสดงเหตุการณ์ที่ระลึกคือแสตมป์ของนิวเซาท์เวลส์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย) ที่ออกในปี พ.ศ. 2431 มีข้อความว่า "ONE HUNDRED YEARS" ออกมาเพื่อฉลองครบรอบร้อยปีของการก่อตั้ง แสตมป์ที่ระลึกชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5

แสตมป์เพื่อใช้งานเฉพาะกรณี
แสตมป์ทั่วไปบางดวงจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะทาง ตัวอย่างเช่นแสตมป์สำหรับ
อากาศไปรษณีย์ (airmail) แสตมป์สำหรับองค์กรที่ส่งจดหมายทีละมาก ๆ (bulk mail) ซึ่งมีราคาบนดวงแสตมป์ตรงกับอัตราค่าส่งแบบพิเศษนั้น ๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือแสตมป์ที่พิมพ์เพื่อใช้งานโดยหน่วยงานของรัฐบาล (official stamp) ซึ่งประเทศไทยเคยออกแสตมป์แบบนี้เรียกว่าแสตมป์ทดสอบสถิติราชการ ออกมาใช้งานช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อเก็บสถิติการส่งไปรษณีย์ของหน่วยงานแต่ละแห่งของรัฐบาล
แสตมป์ต่าง ๆ ต่อไปนี้ ไม่ได้แยกประเภทต่างหากจากแสตมป์ทั่วไปและแสตมป์ที่ระลึกที่กล่าวไว้ข้างบน แต่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว และมีชื่อเรียกเฉพาะ


แสตมป์กาชาด พ.ศ. 2528 (พิมพ์แก้ราคา) ใช้เป็นแสตมป์ที่ระลึก


แสตมป์ทั่วไป พิมพ์แก้ราคา
แสตมป์ต่าง ๆ ที่นำออกมาจำหน่ายและใช้งานทางไปรษณีย์ไม่จำเป็นต้องเป็นแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นใหม่เสมอ แต่อาจเป็นแสตมป์พิมพ์แก้ (overprint) คือแสตมป์ของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาพิมพ์เพิ่มเติมบางอย่างลงบนตัวแสตมป์ แสตมป์พิมพ์แก้มีทั้งแสตมป์ทั่วไปและแสตมป์ที่ระลึก ตัวอย่างแสตมป์พิมพ์แก้เพื่อเป็นที่ระลึกของไทย เช่น
งานกาชาดบางปี
แสตมป์พิมพ์แก้ที่ใช้เป็นแสตมป์ทั่วไป อาจมีวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์ต่าง ๆ กันเช่น นำแสตมป์ของประเทศหนึ่งพิมพ์ข้อความเพิ่มเพื่อนำไปใช้ในดินแดน
อาณานิคม และนำแสตมป์ราคาหนึ่งมาแก้ไขเป็นอีกราคาหนึ่ง เรียกว่า พิมพ์แก้ราคา (surcharge) ใช้กรณีที่ไปรษณีย์ขาดแคลนแสตมป์บางราคา หรือมีการปรับเปลี่ยนหน่วยเงินตรา และใช้งานระหว่างที่รอแสตมป์ราคาที่ขาดแคลนพิมพ์เสร็จ แสตมป์พิมพ์แก้พบมากในแสตมป์ยุคแรก ๆ เนื่องจากการพิมพ์และการขนส่งใช้เวลานาน
แสตมป์ส่วนตัว
แสตมป์ส่วนตัว (personalized stamp) คือแสตมป์ที่ด้านข้างมีภาพอื่นซึ่งผู้ที่ซื้อแสตมป์ สามารถนำมาใส่ได้ เช่น ภาพถ่าย ซึ่งตามงานแสดงต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดให้บริการในช่วงหลัง ๆ มักมีบริการถ่ายรูปเพื่อพิมพ์ลงบนแสตมป์ส่วนตัวด้วย แสตมป์ดังกล่าวสามารถใช้จริงทางไปรษณีย์ได้ แต่ต้องติดส่วนที่เป็นภาพถ่ายและแสตมป์ไปคู่กัน

แสตมป์ตลก
สำหรับแสตมป์ที่มีความผิดปกติระหว่างการพิมพ์ เรียกว่า
แสตมป์ตลก (error หรือ variety) ซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเพียงบางแผ่น เช่น หมึกเลอะ, ปรุรูเคลื่อน, พิมพ์ซ้ำ หรือเกิดจากรอยตำหนิบนแม่พิมพ์ ซึ่งมีผลให้แสตมป์ตรงตำแหน่งดังกล่าวของทุกแผ่นมีความผิดพลาดทั้งหมด แสตมป์ตลกสามารถใช้งานได้จริงทางไปรษณีย์ และเป็นที่นิยมสะสมโดยแสตมป์ตลกบางดวงมีค่ามากกว่าแสตมป์จริงเสียอีกเพราะมีปริมาณน้อยมาก
วิธีการจำหน่ายแสตมป์


แสตมป์จากตู้หยอดเหรียญของสหรัฐอเมริกา ออกในปี พ.ศ. 2497
แสตมป์รูปแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม คือ พิมพ์เป็น
แผ่นและฉีกขายที่ไปรษณีย์ แต่เพื่อความสะดวกกับผู้ใช้บริการไปรษณีย์จึงมีการพัฒนารูปแบบอื่น ๆ ตามมา รูปแบบหนึ่งที่นิยมคือ สมุดตราไปรษณียากร หรือ สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (stamp booklet) ซึ่งมีลักษณะเป็นเล่มภาย ในบรรจุแสตมป์จำนวนหนึ่ง สามารถฉีกออกมาติดจดหมายได้ อาจจำหน่ายทางที่ทำการไปรษณีย์ ตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
มีแสตมป์อีกแบบที่พิมพ์ขึ้นสำหรับจำหน่ายผ่านตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ เรียกว่า coil stamp แสตมป์พิมพ์ให้มีลักษณะเป็นม้วนเหมือนกับ
เทปกาว เมื่อหยอดเหรียญก็จะส่งแสตมป์ออกมาจากเครื่องตามจำนวนเงินที่ใส่ ให้ผู้ซื้อฉีกออกจากม้วนไปใช้งาน แสตมป์แบบนี้ประเทศไทยยังไม่มี
ปัจจุบันมีแสตมป์แบบที่ตอนพิมพ์ยังไม่ได้ระบุราคาบนดวงแสตมป์ แต่จะใช้เครื่องพิมพ์พิมพ์ราคาทีหลังตามอัตราค่าไปรษณีย์ที่ต้องการฝากส่ง อาจให้บริการจากเคาน์เตอร์บริการหรือเครื่องหยอดเหรียญก็ได้ ของประเทศไทยปัจจุบันเป็นแสตมป์รูป
ช้างนิยมเรียกว่าเลเบล หรือแสตมป์สติกเกอร์ เนื่องจากมีกาวแบบสติกเกอร์ด้านหลังแสตมป์



แสตมป์ทั่วไป
(
อังกฤษ definitive stamp) เป็นแสตมป์ที่วัตถุประสงค์ในการพิมพ์เพื่อใช้งาน แทนที่จะพิมพ์ขึ้นเพื่อการสะสมเหมือนแสตมป์ที่ระลึก ลักษณะของแสตมป์ทั่วไป มักมีหลายราคาครอบคลุมอัตราค่าไปรษณีย์ต่าง ๆ กัน มักทยอยพิมพ์และนำออกจำหน่ายต่อเนื่องกันหลายปี และมีการพิมพ์เพิ่มเติมเมื่อแสตมป์ที่มีอยู่ถูกใช้งานจนเหลือน้อย
คำว่า definitive stamp เริ่มแพร่หลายช่วงหลัง
สงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อใช้แยกความแตกต่างจากแสตมป์ที่ระลึก สำหรับประเทศไทยแสตมป์ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้น เรียกว่า แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์
ราคาบนดวงแสตมป์จะขึ้นอยู่กับอัตราค่าไปรษณีย์ในแต่ละสมัย แสตมป์ทั่วไปมีทั้งชุดขนาดเล็กที่มีราคาเดียวหรือไม่กี่ราคา จนถึงชุดขนาดใหญ่ที่มีแสตมป์แตกต่างกันหลายสิบดวง ซึ่งราคาจะมีตั้งแต่ต่ำสุดซึ่งแทนหน่วยเงินที่เล็กที่สุด หรือ อัตราค่าไปรษณีย์ต่ำสุด ไปจนถึงราคาสูงสุดสำหรับส่งพัสดุไปรษณีย์ขนาดใหญ่ ส่วนราคาระดับกลาง ๆ มีเพื่อสะดวกในการติดแสตมป์ให้ได้อัตราค่าส่งต่าง ๆ กัน และอาจมีราคาเป็นตัวเลขประหลาดที่ตรงกับค่าฝากส่งบางประเภทที่ใช้บ่อย
แสตมป์ทั่วไปที่ออกเป็นชุดใหญ่มักจะพิมพ์มาเพื่อใช้งานเป็นเวลานานหลายปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงค่าไปรษณีย์ระหว่างนั้น ก็มักจะออกแสตมป์ราคาใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมรองรับอัตราใหม่
แสตมป์ทั่วไปในบางประเทศยังมีการออกเป็นแสตมป์ไม่ระบุราคา (non-denominatd หรือ no-value indicator, NVI) ซึ่งไม่ใช้ตัวเลขมาแสดงราคาบนดวงแสตมป์ ตัวอย่างเช่น
สหรัฐอเมริกา เคยออกแสตมป์ที่มีราคาบนดวงเป็นตัวอักษร เช่น A, B, C เป็นต้น มีจุดประสงค์เพื่อสามารถเตรียมการและพิมพ์แสตมป์เมื่อมีการปรับอัตราค่าไปรษณีย์ใหม่ แต่ในขณะเตรียมการยังไม่ทราบอัตราใหม่แน่นอน [1] และเมื่อทราบอัตราใหม่แล้วจะมีการพิมพ์ราคาบนแสตมป์ทั่วไปรุ่นต่อ ๆ มา ระยะหลังสหรัฐอเมริกายังพิมพ์แสตมป์ที่แสดงข้อความ First-class แทนราคาจริงสำหรับจดหมายประเภท first-class (จดหมายทั่วไป) แต่ไม่สามารถใช้ในอัตราใหม่หากค่าไปรษณีย์มีการขึ้นอีก
แสตมป์ไม่ระบุราคาอีกแบบ สามารถนำมาใช้เมื่อมีการปรับอัตราใหม่ได้ โดยแสตมป์ถือว่ามีราคาบนดวงเท่ากับอัตราใหม่ทันที ผู้ซื้อไม่ต้องหาแสตมป์มาติดเพิ่มอีก เช่น
สหราชอาณาจักรมีการพิมพ์แสตมป์สำหรับ first-class และ second-class (ช้ากว่า) โดยพิมพ์ข้อความ 1ST และ 2ND แทนราคา[2] แคนาดาก็ออกแสตมป์แบบนี้และใช้เครื่องหมายการค้าว่า PERMANENT stamp และใช้ตัวอักษร P บนใบเมเปิลเป็นสัญลักษณ์[3] ประเทศไทยเคยออกแสตมป์ชุดหนึ่ง เป็นแสตมป์รูปดอกบัว สำหรับส่งจดหมายภายในประเทศ บนแสตมป์ไม่มีราคาหน้าดวง จำหน่ายในรูปสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เริ่มจำหน่าย 4 สิงหาคม พ.ศ. 2540 แสตมป์ออกมาในช่วงที่อัตราจดหมายคือสองบาท และสามารถใช้ได้เมื่อปรับอัตราค่าไปรษณีย์ใหม่[4] ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้ว

แสตมป์ทั่วไปมักมีขนาดเล็กไม่เปลืองเนื้อที่ในการติด เนื่องจากเวลาใช้อาจต้องติดแสตมป์จำนวนมาก แสตมป์ราคาสูงอาจพิมพ์ให้มีขนาดใหญ่กว่าแสตมป์ราคาปกติ รูปแบบมักจะเรียบง่าย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์แสตมป์ ภาพบนดวงแสตมป์นิยมสื่อถึงวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ของประเทศ บางประเทศนิยมนำภาพของผู้นำหรือพระมหากษัตริย์มาเป็นแบบบนแสตมป์
เพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ในการตรวจ แสตมป์ทั่วไปแต่ละราคาจะพิมพ์คนละสีกัน เจ้าหน้าที่ที่ชำนาญเพียงแต่เห็นแสตมป์สีต่าง ๆ กันบนจดหมายหรือพัสดุก็สามารถบอกได้ทันทีว่าติดแสตมป์ทั้งหมดรวมแล้วราคาเท่าใด
แสตมป์ทั่วไปของไทย
แสตมป์ทั่วไปของไทยนิยมใช้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์บนดวงแสตมป์ตั้งแต่ยุคแรกของการไปรษณีย์ไทยในสมัย
รัชกาลที่ 5 จะมียกเว้นบ้างก็เช่น ชุดในสมัยรัชกาลที่ 8 ชื่อชุดบางปะอิน (เริ่มจำหน่ายเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2484) ที่นำรูปควายไถนาและรูปพระราชวังบางปะอินมาใช้บนดวงแสตมป์
แสตมป์ทั่วไปสมัยรัชกาลที่ 9 ออกเป็นแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ถึงปัจจุบันเป็นชุดที่ 9 (ข้อมูลเมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2550) โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์หันพระพักตร์ตรงสองชุด สลับกับพระพักตร์ข้างหนึ่งชุดสลับกันไป แสตมป์ชุดที่ 9 ซึ่งเป็นแบบพระพักตร์ข้าง
ออกใช้งานตั้งแต่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยราคา 50 สตางค์, 1, 2, 4, 5, 6, 7, 9, 10, 12, 15, 20, 25, 30, 50, 100, 200 และ 500 บาท โดยแสตมป์ราคา 500 บาทเป็นแสตมป์ที่มีราคาหน้าดวงสูงที่สุดของไทย
แสตมป์ทั่วไปสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ไม่ใช่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เพิ่งเริ่มมีในระยะหลัง ชุดแรกมีวันแรกจำหน่าย 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 มีสี่แบบ ได้แก่ภาพ
ธงชาติ เรือนไทย ช้าง และ ดอกราชพฤกษ์ อีกชุดหนึ่งที่จัดเป็นแสตมป์ทั่วไปได้เช่นกัน เป็นแสตมป์รูปดอกบัวซึ่งกล่าวในหัวข้อราคา ไม่จำหน่ายในรูปแผ่นแสตมป์เหมือนปกติ แต่อยู่ในรูปสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กแทน

เราจะเริ่มต้นสะสมแสตมป์อย่างไรดี

ประโยชน์ของการสะสมแสตมป์
หลายๆ คนรอบตัวเราต่างมีงานอดิเรกที่ตรงกัน นั่นคือ การสะสมแสตมป์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุที่มีการสะสมแสตมป์ทั่วโลก เพราะผู้สะสมจะได้รับประโยชน์มากมาย เช่น ได้รับความเพลิดเพลินจากภาพที่พบเห็น ได้รับความรู้หลายด้านเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณี ฯลฯ ถ้าเรารู้จักค้นคว้าถึงที่มาของภาพที่ปรากฏ บนดวงแสตมป์ ทำให้เป็นคนที่มีจิตใจเยือกเย็น ละเอียดอ่อน เป็นระเบียบ เพราะการลอกล้างแสตมป์ การหยิบจับ หรือการจัดเก็บต้องอาศัยความประณีต แสตมป์ยังทำให้ มีเพื่อนมากขึ้น เพราะนักสะสมนิยมนำไปแลกเปลี่ยนระหว่างกัน นอกจากนี้ การสะสมแสตมป์ยังเป็นการออมทรัพย์ในทางอ้อม เพราะแสตมป์จะมีค่าสูงขึ้นเมื่อวันเวลาผ่านไป การสะสมแสตมป์มีประโยชน์มากมายดังกล่าว จึงทำให้บุคคลทุกเพศทุกวัยนิยมสะสมแสตมป์ เมื่อท่านสนใจอยากจะสะสมขึ้นมาบ้างแล้ว เราลองมาดูกันซิว่าเราจะเริ่มสะสมแสตมป์ได้อย่างไร

เราจะเริ่มสะสมแสตมป์อย่างไรดี
การสะสมแสตมป์เป็นสิ่งที่สนุกสนานเพลิดเพลินและง่ายมาก จนแม้แต่เด็กๆ ก็สามารถเริ่มสะสมได้ ในขนาดเดี่ยวกันก็มีความเร้าใจมากเพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ที่สะสมเกิดความอยากรู้ อยากเห็น สนใจ เอาใจใส่ติดตามอย่างไม่ลดละ ท่านสามารถมีแสตมป์ไว้สะสมสำหรับตัวของท่านเอง ได้ทุกเวลาที่ต้องการ โดยเริ่มจากแสตมป์บนซองจดหมาย ซึ่งบุรุษไปรษณีย์นำมาให้แก่ท่านในแต่ละวัน

เราจะเริ่มจากที่ไหนดีล่ะ
อ้าว....เราก็เริ่มด้วยการสำรวจตรวจตรา จดหมายต่างๆ ที่มาถึง คุณพ่อ คุณแม่ พี่ๆ น้องๆ ญาติๆ หรือแม้แต่เพื่อนๆ ใกล้ๆ ตัวคุณ ถ้าเห็นว่าแสตมป์ที่ผนึกอยู่บนจดหมายมีความสวยงามน่าสมใจ ละก็รีบขอไว้...ซะเลย ที่นี้ก็มาถึงการลอกแสตมป์จากซองจดหมายเหล่านั้น เริ่มด้วยการใช้กรรไกรตัดแสตมป์ออกจากซองจดหมาย โดยให้มีระยะห่างจากฟันแสตมป์พอประมาณ จากนั้นจึงนำแสตมป์ไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที แล้วจึงนำไปลอกออกและผึ่งให้แห้ง โดยคว่ำภาพแสตมป์ลงบนกระดาษซับหรือกระดาษที่สะอาด จากนั้นนำไปสอดไว้ในสมุดเล่มหนาๆ เพื่อให้แสตมป์ มีความเรียบ สวยงาม ไม่โก่งงอ เมื่อแสตมป์แห้งและเรียบดีแล้ว เราก็มาเริ่มจัดแสตมป์ของเรากันได้เลย

เราจะสะสมแสตมป์อย่างเดียวหรือ
ท่านสามารถเริ่มต้นด้วยการสะสมแสตมป์ ซึ่งสามารถแยกการสะสมได้เป็น การสะสมแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้ คือ การสะสมแสตมป์ใหม่ๆ ที่ไม่มีรอยประทับตรา และได้รับการเก็บรักษาไว้ในสภาพเรียบร้อย การสะสมแสตมป์ใช้แล้ว คือ แสตมป์ที่ตัดมาจากซองจดหมายต่างๆ หรือไปรษณียภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นแสตมป์ที่ได้รับการประทับตราแล้ว การสะสมตราประทับประจำวัน คือ แสตมป์ที่ได้รับการประทับตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ และที่ทำการไปรษณีย์ต้นทาง เมื่อความสนใจของท่านเพิ่มขึ้น ท่านก็อาจขยายขอบเขต การสะสมของท่าน โดยเพิ่มเติมการสะสมสิ่งสะสมอื่นๆ อาทิ ไปรษณียบัตร จดหมายอากาศ แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึก ซองที่ระลึก ซองวันแรกจำหน่าย สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก สมุดตราไปรษณียากรประจำปี บัตรภาพตราไปรษณียากร บัตรตราไปรษณียากรที่ระลึก รวมทั้งตราประทับประจำวันต่างๆ ด้วยเป็นต้น ท่านสามารถสะสมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างมากมาย แต่จะเป็นการดีกว่าหากท่านเริ่มต้นด้วยการเลือกสะสมบางสิ่งบางอย่างก่อน จนกระทั่งมีความชำนาญและความเข้าใจดีแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มการสะสมสิ่งอื่นๆ อีกที่ละอย่างสองอย่าง

เราต้องการอุปกรณ์อะไรบ้าง
อุปกรณ์การสะสมที่ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่นักสะสม ทุกระดับต้องมีไว้ ได้แก่ สมุดเก็บแสตมป์ ปากคีบแสตมป์ที่ใช้คีบแสตมป์แทนการใช้มือจับ แว่นขยายเพื่อใช้ในการส่องดูรายละเอียดการพิมพ์บนดวงแสตมป์ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่ชัดเจน และหนังสือคู่มือแสตมป์ เมื่อการสะสมแสตมป์ของท่านก้าวหน้าขึ้น ท่านอาจต้องการมาตรวัดฟันแสตมป์เพื่อใช้วัดขนาดรอยปรุของแสตมป์ นอกจากนี้แล้วยังมีเครื่องตรวจสอบลายน้ำที่จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับ ลักษณะของลายน้ำที่ใช้บนกระดาษ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงในการพิมพ์ นักสะสมมืออาชีพอาจจะต้องการแม้กระทั่ง "ดวงโคมให้แสง อัลตราไวโอเลต" ที่สามารถบอกข้อมูลเกี่ยวกับ แถบสีของสารเรืองแสง ที่การไปรษณีย์ต่างๆ พิมพ์ไว้บนแสตมป์ของตน

เราควรสะสมอะไรดี
ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรแน่นอนตายตัวในเรื่องนี้ ท่านสามารถจะเลือกสะสมเรื่องอะไรก็ได้ที่ท่านใฝ่ฝัน หรือมีความรักประทับใจที่จะสะสม ท่านอาจจะเก็บสะสมแสตมป์แต่ละประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือเยอรมนี หรือตามกลุ่มของประเทศ เช่นกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มยุโรปเหนือ กลุ่มแอฟริกาใต้ เป็นต้น แล้วคอยสำรวจติดตาม ความเจริญเติบโต ความก้าวหน้า วิวัฒนาการทางศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ประชากรของประเทศเหล่านั้นจากแสตมป์ หรือมิฉะนั้น ท่านก็เลือกสะสมแสตมป์เป็นเรื่องๆ ไป เช่น ดอกไม้ สัตว์ กีฬา ฯลฯ แล้วพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ โดยการศึกษาเปรียบเทียบข้อแตกต่างคล้ายคลึงจากแสตมป์ ของแต่ละประเทศ

เราจะเก็บแสตมป์อย่างไรดี
วิธีการเก็บที่ถูกต้องที่สุดคือ การเก็บแสตมป์ไว้ในสมุดเก็บแสตมป์ ซึ่งมีมากมายหลากหลายชนิด หลายรูปแบบให้เลือกได้ตามความต้องการ ทั้งชนิดที่หน้าในติดตายตัวถอดไม่ได้ และชนิดที่ถอดหน้าในได้หรือเพิ่มหน้าได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเก็บแสตมป์คือ การสอดใส่แสตมป์ไว้ในเม้าท์ ที่ผนึกบนอัลบั้มชีทและบรรจุในซองพลาสติก ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพของแสตมป์ให้มีความสมบูรณ์และมีอายุยืนนาน

เราจะทราบข่าวเกี่ยวกับแสตมป์ได้อย่างไร
จากวารสารตราไปรษณียากร เป็นวารสารรายเดือนที่ประกอบด้วยเนื้อหา สาระอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับแสตมป์ไทย และต่างประเทศ และจากข่าวตราไปรษณียากร แผ่นพับพิมพ์สอดสี ซึ่งให้ข่าวสารรายละเอียดเกี่ยวกับแสตมป์แต่ละชุดที่ออกในแต่ละปี

เราจะซื้อแสตมป์ได้จากที่ไหน
การสื่อสารแห่งประเทศไทยให้บริการจำหน่าย และจัดส่งแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้ตามราคาที่ปรากฏอยู่บนดวงแสตมป์ ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจจะหาซื้อแสตมป์ไว้สะสม นอกจากนี้ยังมีบริการพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะได้รับแสตมป์ด้วยความถูกต้องแน่นอนและรวดเร็ว อีกทั่งยังได้รับประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น